8 กุมภาพันธ์ 2556

แอนนิมอล ฟาร์ม สงครามกบฏของสรรพสัตว์


ผู้แต่ง: George Orwell
ผู้แปล: บัญชาสุวรรณานนท์

แม้จะเดาเรื่องได้ตั้งแต่อ่านบทแรกๆ แต่จอร์จ ออร์เวลล์ คงไม่ได้ตั้งใจให้คนอ่านประหลาดใจอยู่แล้ว... ก็สังคมจะเดินไปสู่หนใดได้อีกเล่า เมื่ออำนาจตกอยู่ในกำมือของคนเพียงคนเดียว (จริงๆคือกำกีบของหมูเพียงตัวเดียว) อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

หนังสือเล่มเล็กๆระดับลุยอ่านวันเดียวจบ เล่าเรื่อง Surreal ของฟาร์มแห่งหนึ่ง ที่วันดีคืนดี "ท่านผู้พัน" หมูพ่อพันธุ์วัยใกล้ฝั่งได้ครุ่นคิดจนตกผลึก เกิดพุทธิปัญญา เล็งเห็นว่าที่ผ่านมาเหล่าสรรพสัตว์ในฟาร์มต่างถูกเอาเปรียบแรงงานจากคน- สัตว์โลกชนิดเดียวที่บริโภคโดยไม่ผลิต มาโดยตลอดและอย่างแสนสาหัส เขาจึงเผยแพร่แนวคิดที่ค้นพบใหม่นี้ไปสู่ผองเพื่อนในฟาร์ม...และแล้วคืนนั้น อาการ "ตาสว่าง" ก็เกิดขึ้นทุกทั่วตัวตน


แม้ท่านผู้พันจะตายลงไม่นานหลังจากนั้น แต่ยังมีหมู 3 ตัว สืบทอดเจตนารมย์ นำแนวคิดนี้ไปพัฒนาต่อ จนกลายเป็นระบบความคิดที่สมบูรณ์ มีแผนรองรับทุกขั้นตอน ตั้งแต่วิธีก่อกบฏ และสิ่งที่ต้องทำต่อจากนั้น เพื่อให้ระบบ "สัตว์นิยม" ดำรงอยู่สืบไปอย่างยั่งยืน...และเมื่อวันร้ายคืนร้ายมาถึง มิสเตอร์โจนส์เจ้าของฟาร์มก็โดนสัตว์ก่อกบฏ ขับไล่เขาออกไปและยึดครองฟาร์มได้ในที่สุด


เรื่องที่เริ่มด้วยความหอมหวานของ "เสมอภาค-ภราดรภาพ" แปรเปลี่ยนไปเป็นโศกนาฏกรรมมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งความล้มเหลวจากความด้อยประสบการณ์ การถูกใส่ร้าย ความตาย จนเมื่อถึงบทสุดท้ายผู้อ่านจะทั้งเศร้าและขนลุกเมื่อจินตนาการตามคำบรรยายเลยทีเดียว

หนังสือเล่มนี้ได้รับการยกย่องอย่างแพร่หลาย Time จัดให้เป็นนิยายภาษาอังกฤษ 1 ใน 100 เรื่องที่ดีที่สุดนับตั้งแต่ปีที่ก่อตั้งนิตยสารจนถึงปัจจุบัน ส่วน Modern Library จัดให้เป็นนิยาย 1 ใน 100 เรื่องที่ดีที่สุดของศตวรรษที่ 20  ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะฉายภาพให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความเป็นไปของ "สังคมนิยม" (แม้ว่าจะไม่ได้ระบุอย่างชัดแจ้ง แต่สัญลักษณ์เขาสัตว์และกีบเท้าบนธง ก็ทำให้ไม่สามารถนึกเป็นอื่นได้) ตั้งแต่เริ่มปฏิวัติจนถึงสงบราบคาบ ที่ผู้นำ ซึ่งควรจะนำคำสอนอันกลั่นกรองมาดีแล้วมาปฏิบัติอย่างรู้ค่า กลับทำลายมันลงสิ้นจากความเย้ายวนแห่งอำนาจ ภาพฉายนี้อาจจริงหรือไม่ก็ได้ แต่ฝรั่งที่อยู่ขั้วตรงข้ามกับสตาลินคงอยากเชื่อเช่นนั้น

ส่วนที่เราชอบของเรื่อง คือการเสียดสีสภาวะต่างๆของคน ที่ออร์เวลฉายมันผ่านสัตว์หลากชนิดอยู่ตลอดทั้งเรื่อง ที่โดนใจที่สุดคือ ภาวะ "เชื่อง่าย-ลืมง่าย" ของสัตว์ใต้ปกครอง มองจากสายตาคนนอกแล้วมันช่างขื่น-ขัน เหลือประมาณ แต่เรื่องตลกร้ายนี้ต่างหาก ที่ถ้าพินิจให้ดีแล้วจะพบว่า เป็นเนื้อแท้แห่งปัญหาเสียยิ่งกว่าเรื่องของผู้นำและอำนาจ เป็นมาแต่ไหนแต่ไร โดยไม่เกี่ยงขั้ว ไม่เกี่ยงว่าอยู่ในรัฐสังคมนิยมหรือรัฐไพร่ฟ้าหน้าใส

คะแนน 3/5