คำเตือน ต่อไปนี้คือการเปิดเผยเนื้อหาของเรื่อง...แบบเต็มๆ...ถ้าใครยังไม่อยากโดนสปอยล์ โปรดข้ามไปอ่าน part หลังโดยพลัน
===================================================
คำถามหนึ่งที่นักวิ่งมาราธอน (นับรวมมินิ และฮาล์ฟด้วย) ทุกคนคงเคยเจอก็คือ วิ่งไปทำไม วิ่งแล้วได้อะไร สนุกเหรอ ชนะแล้วได้เงินมั้ย หลายคนอาจถามเพราะอยากรู้จริงๆ แต่อีกหลายคนใช้คำถามเพื่อจะได้แสดงทัศนะของตนต่อจากนั้นว่า การวิ่งมาราธอนดูไปแล้วช่างไร้เหตุผลและน่าเบื่อสิ้นดี
นางเอกของ 42.195 ก็เป็นหนึ่งในนั้น "หล่อน"ถามคำถามทำนองนี้ไว้ในวันที่พบกับ"เขา"ครั้งแรก เมื่อรู้ว่าเขากำลังฝึกซ้อมเพื่อวิ่งมาราธอน หล่อนเพิกเฉยกับมาราธอนดุจเดียวกับความรู้สึกที่มีให้"เขา"-เด็กหนุ่มผู้แอบครอบครัวมาวิ่งเพื่อพิสูจน์ตัวเองว่าคนเป็นหอบหืดแต่กำเนิดก็เล่นกีฬาได้
แต่เพียงในวันที่ 2 ด้วยสเน่ห์และความสดใสของเด็กหนุ่ม ทำให้หล่อนถึงกับต้องกลับมานั่งนับ ว่าจริงๆแล้วอายุของเขาห่างจากหล่อนกี่ปี และเมื่อเวลาผ่านไปเพียงไม่นาน ความรู้สึกดีๆที่ทั้งคู่มีต่อกันก็กระจ่างชัดในคืนวันหนึ่งก่อนแยกย้ายกลับบ้าน...พร้อมกับความรู้สึกแปลกใหม่อันนี้ หล่อนตั้งปณิธานกับเขาว่า...จะวิ่งมาราธอน
นี่นับเป็นจุดเปลี่ยนอันใหญ่หลวงเหลือเกิน ถ้าคุณทราบว่าหล่อนเพิ่งเสียสามีไปไม่ถึงปี และเฝ้าโทษตัวเองมาตลอดว่าการเสียชีวิตนั้นมีตัวเองเป็นต้นเหตุ จนทำให้เศร้าโศกถึงขนาดขอพักงานยาวนานหลายเดือนอย่างไม่มีกำหนดกลับ
...อะไรกันเล่า ที่ทำให้หล่อนลุกขึ้นกอบกู้ชีวิตตัวเอง เริ่มใช้ชีวิตอย่างกระฉับกระเฉงและมีเป้าหมายอีกครั้งด้วยการซ้อมวิ่งมาราธอน ที่หล่อนเคยยั่วล้อว่า "มันคงสนุกดีเนอะ วิ่งคนเดียวเงียบๆเนี่ย" ...อะไรกันเล่า ที่ทำให้หล่อนเปิดใจให้ชายคนรักที่อายุน้อยกว่าเกือบ 20 ปี และยิ่งกว่านั้น หล่อนได้สัญญาหน้าเมรุให้ทุกคนรับรู้ไปแล้วว่าจะไม่มีคนใหม่
เมื่อดูมาถึงตรงนี้เรานึกถึงหนังในดวงใจตลอดกาลเรื่องหนึ่ง The bridges of Madison County หนังรักที่ถ้าเด็กอายุ 15-16 มาดูคงเบือนหน้าหนีด้วยความรู้สึกขยะแขยง ด้วยว่าเป็นเรื่องของแม่บ้านในวัยใกล้เคียงกับ "หล่อน" ที่บังเอิญได้ต้อนรับชายแปลกหน้า ในช่วงเวลา 4 วันที่สามีและลูกๆไปต่างเมือง จากการพูดคุยกันถูกคอเพราะมีใจรักด้านศิลปะเหมือนกัน พัฒนาเป็นความรักอย่างรวดเร็ว และจบลงด้วยการเป็นชู้สมบูรณ์แบบทั้งใจและกาย
ใช่ ถ้าจะมองด้วยแว่นศีลธรรม มันเป็นเรื่องของชายโฉดหญิงชั่วคู่หนึ่ง แต่ถ้าเราเบือนหน้าหนีตั้งแต่แรก เหมือนกลัวไวรัสความเสื่อมจะกระเด็นมาติด เราคงไม่สามารถเข้าใจได้ว่าเหตุไรคุณแม่ลูกสองจึงประพฤติตนเช่นนั้น และเราคงไม่ได้เห็นว่า ในท้ายที่สุด เธอยอมให้หน้าที่ความเป็นแม่ เอาชนะอารมณ์ด้วยการปล่อยให้โอกาสที่จะได้หนีไปกับคนรักหลุดลอยไป พร้อมกับใบหน้าคนรัก ที่เธอได้เห็นเป็นครั้งสุดท้ายในชีวิต ฉากนี้ดูกี่ทีก็โคตรสะเทือนใจ
การนำเสนอเรื่องที่มีตัวเอกประพฤติผิดศีลธรรมไม่ได้แปลว่าหนังสนับสนุนให้คนทำชั่ว แต่เป็นการเปิดโอกาสให้เราได้เห็นโลกอย่างรอบด้าน เข้าใจถึงความเป็นมนุษย์ ว่ามีทั้งด้านมืดและด้านสว่าง หนังดีไม่จำเป็นต้องลงเอยด้วยผลตอบแทนที่สาสมแก่คนทำความผิด เพราะในโลกแห่งความเป็นจริง เราต่างรู้อยู่แก่ใจว่ากฏนี้ไม่เคย valid แล้วเหตุไรต้องพยายามคิดพล็อตเพื่อหลอกตัวเองและหลอกคนดู หนังดีไม่จำเป็นต้องกลัวว่าคนดูจะแยกแยะ ถูก-ผิด ไม่ได้และเอาเป็นเยี่ยงอย่าง เพราะสิ่งนี้อยู่ที่การปลูกฝังของพ่อแม่และสังคมต่างหาก ไม่ใช่เวลาแค่เพียง 2-3 ชั่วโมงในโรงหนัง
เราไม่เคยเห็นหนังไทยเรื่องใดเลยที่จะแหวกขนบนี้ไปได้ 42.195 เป็นความพยายามแรกๆ ที่พอจะสัมผัสได้ แม้หล่อนจะไม่ได้ทำผิดศีลธรรมใด เพียงแค่ผิดสัญญาที่ให้ไว้กับคนตาย แต่นี่ไม่ใช่เรื่องที่นางเอกทั่วไปจะทำกันแน่นอน นางเอกต้องรักเดียวใจเดียวตลอดชีวิตและยึดมั่นในสัจวาจาเซ่! ยิ่งรักใหม่ของเธอคือเด็กหนุ่มคราวลูก ยิ่งดูน่าบัดสี (แบบเดียวกับความรู้สึกของหลายๆคนเวลาอ่านข่าวไทยรัฐ ประเภทแม่เฒ่าวัยดึกแต่งงานครั้งที่ 3 กับหนุ่มเอ๊าะ จะมีสักกี่คนที่จะคิดว่าเหตุผลคือ "รัก" ไม่ใช่ "เงิน") ความผิดธรรมเนียมปฏิบัติอย่างอุกอาจนี้ สะท้อนออกมาผ่านคำพูดของสายรุ้ง เพื่อนรักรุ่นน้องของเธอว่า "เจ๊...ยังไงชั้นก็รับไม่ได้อยู่ดี"
หลังจากคล้อยตามทัศนคติของคนนอก ประกอบกับความรู้สึกผิดต่อสามีผู้ล่วงลับ จนถึงขั้นตัดรอนความสัมพันธ์กับเขาอย่างไม่ให้ตั้งตัว หล่อนก็เลิกฝึกซ้อมมาราธอนและกลับมาใช้ชีวิตอย่างหดหู่อีกครั้ง จนเมื่อแม่ของหล่อนได้รับรู้เรื่องรักใหม่จากคำบอกเล่าของสายรุ้งและมาหาหล่อนเพื่อบอกบางสิ่งบางอย่างกับลูกสาว คำสำคัญที่เปรียบประดุจน้ำทิพย์ชะโลมใจหล่อนเมื่อประเด็นการพูดคุยไหลเลื่อนมาถึงเด็กหนุ่มนักวิ่งคนนั้นว่า "ดีแล้ว จะได้คอยดูแลกัน" คนรุ่นเก่าที่ควรจะคอนเซอร์เวทีฟกว่าหล่อน 10 เท่า และกว่าสายรุ้ง 100 เท่า กลับเป็นผู้เปิดไฟเขียวให้ความสัมพันธ์ผิดธรรมเนียมปฏิบัติของทั้งคู่ อาจเป็นเพราะผ่านโลกมายาวนานจนไม่เหลือความยึดติด หรืออีกทีก็เพราะ สำหรับแม่แล้ว ความสุขของลูกเป็นเหตุผลที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด
สำหรับหล่อนแล้ว ด้วยวัย 42 แม้อาจไม่ทรงภูมิพอจะเรียกว่า "ตกผลึกทางความคิด" แต่ก็นานพอที่จะสำนึกได้ว่าเราใช้เวลาตั้งแง่กับสิ่งต่างๆมาครึ่งชีวิตแล้ว เหลือเวลาอีกเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่จะรื่นรมย์กับโลกอันสวยงาม...ไม่ว่าจะเป็นการวิ่งมาราธอนหรือรักครั้งใหม่ ย่อมควรค่าแก่การเปิดใจทั้งนั้น แม้จะไขว้เขวไปบ้าง แต่ในที่สุด ความกล้าที่จะพบชีวิตใหม่ก็เป็นคำตอบสุดท้าย ทั้งเมื่อ 3-4 เดือนก่อนที่ทำให้หล่อนยอมเปิดใจให้รัก หรือวินาทีนี้ ที่ทำให้หล่อนกลับมาเชื่อฟังหัวใจตัวเองอีกครั้ง ดังนั้น หลังจากฟังฉันทานุมัติกลายๆจากแม่แล้ว หล่อนจึงไม่ลังเลเลยที่จะลงแข่งขันมาราธอนในวันรุ่งขึ้น เพื่อเป็นการยืนยันกับคนรักว่า หล่อนเลือกแล้วที่จะคบกับเขา
ทุกสิ่งล้วนเรียบง่ายกว่าที่เราจินตนาการ แม้ระยะทางจะไกลถึง 42.195 กม. หน้าที่ของเราก็มีเพียงแค่การตั้งใจก้าวขา...แต่ละก้าว...ไปเรื่อยๆ และแม้ว่าการมีคนรักที่เด็กกว่ามากอาจเสี่ยงกับการที่ครอบครัวไม่ยอมรับ แต่ในเมื่อวันนี้ ยังไม่มีใครสักคนที่ต้องเสียใจ หน้าที่ของเราก็มีเพียงแค่ดูแลกันและกันให้ดีที่สุด ฉุดมือกันไปเมื่ออีกฝ่ายอ่อนล้าหมดแรง ทั้งมาราธอนและความรักก็ถึงเส้นชัยได้ไม่ต่างกัน
และแล้วหล่อนก็ได้พบชีวิตใหม่ที่เลือกเองกับมือ พร้อมๆเสียงปืน ณ เส้นสตาร์ทตอนตี 3 ของคืนวันนั้น
=======================================================
42.195 หนังตอนสุดท้ายใน trilogy รัก 7 ปี ดี 7 หน นำมาราธอนและความรักมาวางไว้คู่กันประดุจความ duality ของระบบเครื่องกลและไฟฟ้าในเนื้อหาของวิชา circuit I เมื่อ "หล่อน" นางเอกของเรื่อง ตัดสินใจเริ่มวิ่งมาราธอนไปพร้อมๆกับความรู้สึกแปลกๆในหัวใจที่มีต่อครูฝึกวิ่งหนุ่มน้อยของหล่อน
มาราธอนไม่ง่ายฉันใด ความรักต่างวัยก็ยากเย็นฉันนั้น ด้วยอดีตที่หล่อนไม่สามารถก้าวพ้นมันมาครึ่งค่อนปี ทำให้ความรักและมาราธอนพบกับจุดเปลี่ยนในทางที่เลวร้ายลง แต่ในที่สุดทั้งสองสิ่งก็ไม่เกินจิตใจที่เข้มแข็งของมนุษย์ไปได้
42.195 สร้างแรงบันดาลใจให้ทั้งกับคนที่อยากหลุดพ้นจากช่วงเวลาเลวร้ายของชีวิต และคนที่ไม่ได้มีวิกฤตอันใดเพียงแต่อยากทำให้ "แต่ละปีมีเป้าหมาย" ด้วยความสมจริงในรายละเอียดของชีวิตนักวิ่ง ทำให้หลายคนเมื่อดูจบแล้วเกิดอยากรู้พิกัดของ "สวนลับที่มีแต่เราเท่านั้นที่รู้จัก" ขึ้นมาทันที เป้าหมายมาราธอนถูกกำหนดขึ้นในจิตใจ ด้วยหวังจะได้พบประสบการณ์ พระอาทิตย์ขึ้นตอนกิโลเมตรที่ 28 บนสะพานพระราม 8 และปิศาจกิโลเมตรที่ 35 สักครั้งในชีวิต
แรงสะเทือนนี้ส่งผลใหญ่หลวงมากต่อวงการนักวิ่งถนน นักวิ่งหน้าใหม่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ รายการวิ่งในเขตกรุงเทพที่จำกัดจำนวนนักวิ่งเต็มก่อนปิดรับสมัครเกือบทุกงาน ปรากฏการณ์นี้ต่อเนื่องยาวนานตั้งแต่หนังออกฉายปลายเดือนกรกฎาคม 2555 จนถึงวันนี้ และมีแนวโน้มว่าจะคงอยู่ต่อไปเรื่อยๆไม่ใช่เพียงแค่กระแสวูบวาบ ตรงกับที่คนเก่าคนแก่ในวงการได้เล่าไว้ว่า การเพิ่มจำนวนนักวิ่งถนนครั้งสำคัญมีอยู่ 3 ครั้ง ครั้งแรกคือเมื่องานวิ่งเปิดสะพานขึงพระรามเก้า ที่กระตุ้นให้คนทุกเพศทุกวัยลองออกมาวิ่งถนนเป็นครั้งแรกเพราะอยากสัมผัสสะพานที่น่าทึ่งด้วยเท้าตัวเองดูสักครั้ง (แม้แต่อากงของข้าพเจ้ายังไปวิ่งงานนี้เลย คิดดู๊) ครั้งที่สองคนเล่าจำไม่ได้ (ขออภัย ฟังเค้ามาอีกที แหะๆ) และครั้งที่ 3 ก็คือเมื่อหนังรัก 7 ปี ดี 7 หนออกฉายนั่นเอง
นอกจากจะเศร้า-ซาบซึ้งน้ำตาไหลพรากๆ หลายฉากแล้ว ผู้เขียนขอแสดงความซาบซึ้งต่อคุณูปการของหนัง ที่ทำให้ชีวิตหลายคนเปลี่ยนไปในทางที่ดี ตรงกับที่คามิน คมนีย์ เจ้าของหนังสือสารคดีนักวิ่งถนนเรื่อง เย็นวันเสาร์-เช้าวันอาทิตย์ ได้กล่าวไว้ว่า "มันเป็นชีวิตที่ดี"